Home | About Us | Register Consultant | Contact Us | News | Consultant List | Administrator
ถือหุ้นแหล่งพลังงานโลก สนพ.ฝันสยบราคาผันผวน
 




นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐอเมริกาต่อโครงการผลิตนิวเคลียร์ นับเป็นตัวแปรหลักอาจนำพาไทยก้าวไปสู่วิกฤติพลังงานครั้งที่ 4 หากเกิดการใช้กำลังทางทหารขึ้นมา เพราะหากไม่สามารถเจรจาอย่างรอมชอม แต่กลับนำไปสู่ความรุนแรง ก็จะส่งผลต่อปริมาณน้ำมันดิบที่จะหายไปมากกว่า 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพราะอิหร่านถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่รองจากซาอุดีอาระเบีย และยังจะมีผลต่อการขนส่งน้ำมันในบริเวณรอบอ่าวเปอร์เซียอีกค่อนข้างมาก



 



“ถ้ามองแบบรุนแรง ก็อาจจะกระทบไปถึงการขนส่งน้ำมันรอบอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเส้นทางขนน้ำมันจากตะวันออกกลางทั้งคูเวต ดูไบ ซึ่งจะทำให้น้ำมันทั้งแพงและอาจขาดแคลนได้เช่นกัน แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายคงไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น และคงมีการไกล่เกลี่ยกันในที่สุด แต่ระยะสั้นยอมรับว่าข่าวเช่นนี้มีผลให้เกิดการเก็งกำไร ราคาน้ำมันจะยังทรงตัวระดับสูงจนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลาย”




 


นายเมตตากล่าวว่า การรองรับปัญหาน้ำมันแพง จะต้องพึ่งพิงแหล่งพลังงานอื่นๆ ทั้งพลังงานทดแทน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติที่มีราคาต่ำกว่าน้ำมัน ดังนั้น ช่วงนี้รัฐบาลจะเร่งผลักดันการใช้ก๊าซเอ็นจีวี ในภาคขนส่งและรถยนต์ให้มากขึ้น ระยะยาวก็จะปรับยุทธศาสตร์พลังงานของชาติใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ โดย สนพ.จะมีการนำเสนอให้กระทรวงพลังงานเห็นชอบ ก่อนเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณา อาทิ การนำเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจะให้กองทุนน้ำมันเข้าไปมีบทบาทในเชิงรุกมากขึ้น หลังจากใช้หนี้จากการตรึงราคาน้ำมันก่อนหน้านี้ที่เหลืออีก 70,000 ล้านบาทที่จะหมดลงใน 2 ปีข้างหน้า ด้วยการให้กองทุนน้ำมันเข้าไปลงทุนในกิจการพลังงานทั้งในและต่างประเทศซึ่งอาจให้บริษัท ปตท.สผ.เข้ามาบริหารเพราะมีความชำนาญในเรื่องแหล่งพลังงานทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งถือเป็นการปรับบทบาทของกองทุนให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น จากเดิมที่กองทุนนี้เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อรองรับวิกฤติด้านราคาน้ำมันเท่านั้น



 



“ในต่างประเทศก็มีกองทุนน้ำมันเหมือนไทย แต่ต่างจากไทยเพราะไทยใช้เพื่อชดเชยราคาก๊าซหุงต้มหรือตรึงราคาน้ำมัน ในขณะที่ต่างประเทศใช้เพื่อเป็นแหล่งระดมเงินทุน ไปลงทุนซื้อหุ้นในกิจการบริษัทน้ำมันของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือเข้าไปร่วมทุนกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั่วโลกเพื่อสำรวจขุดเจาะน้ำมันมาใช้ ซึ่งเมื่อมีการร่วมทุนกัน ก็จะได้สิทธิซื้อน้ำมันในราคาของการร่วมลงทุน ต่างจากประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันทั่วๆไปที่ต้องซื้อในราคาตลาดโลก”



 



นายเมตตากล่าวว่า สำหรับวิกฤติน้ำมันของไทยครั้งที่ 1 เป็นช่วงปี 2516-2518 เป็นการสู้รบระหว่างอิสราเอล อียิปต์ และซีเรีย ใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือในการต่อรองทำให้ราคาน้ำมันสูง ครั้งที่ 2 ปี 2522-2524 เกิดสงครามกลางเมืองอิหร่าน มีการจำกัดโควตาน้ำมัน ทำให้ทั้งราคาแพงและขาดแคลน ครั้งที่ 3 ปี 2546-2547 น้ำมันราคาแพงเพราะเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ทั่วโลก เศรษฐกิจซบเซา โรงกลั่นผลิตน้ำมันได้น้อยเมื่อเทียบกับความต้องการใช้ และกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติก็เข้ามากว้านซื้อเพื่อเก็งกำไร



 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ตัดสินใจตรึงราคาขายปลีกน้ำมันต่อไปอีก จากเดิมที่คาดว่าเมื่อวานนี้ (19 เม.ย.) ปตท.อาจปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลอีก 40 สต.ต่อลิตรให้เท่ากับผู้ค้ารายอื่น ทั้งนี้ สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกายังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในช่วงเช้าของวานนี้ ราคาส่งมอบเดือน พ.ค.อยู่ที่ 70.99 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ลดลงจากวันก่อนที่ทำสถิติ 71.60 เหรียญ สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีก่อนที่ราคา 70.85 เหรียญ.

Back

THAICONSULTINGS ™   Copyrights © 2005 All Rights Reserved | Developed by softmarts
softmarts@gmail.com  
: จำนวนผู้เข้าชม 531,433 ท่าน